ต้น

วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ก่อนจะถึงวันนั้น.....

      
       โอกาสที่จะเกิดโศกนาฏกรรมทั้งในวงการฟุตบอลโลกและวงการฟุตบอลไทยมี อยู่ไม่กี่เรื่อง เรื่องหนึ่งก็คือแฟนบอลยกพวกตีกัน เรื่องต่อมาคือเหตุการณ์อัฒจันทร์ที่นั่งผู้ชมถล่มลงมา ประเทศไทยอาจจะพิเศษหน่อยตรงที่มีโอกาสเกิดเหตุแฟนบอลหรือนักบอลไล่กระทืบ ผู้ตัดสิน

       ผมเห็นคลิปวิดีโอที่เกิด เหตุอัฒจันทร์ สนามบุญสม มาร์ติน หรือสนามกีฬากลาง จ.สุโขทัย ถล่มลงมาในนัดที่พบกับนครสวรรค์จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บร่วม 20 คนแล้วรู้สึกเศร้าและเป็นห่วงความปลอดภัย กลัวว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นที่อื่นอีก ซึ่งหากเกิดขึ้นอีกครั้งไม่ว่าจะที่ไหนอาจจะไม่โชคดีมีแค่คนบาดเจ็บอย่างนี้

         ต้องยอมรับว่ากระแสฟุตบอลไทยวันนี้ร้อนแรงเหลือเกิน แต่ละสนามจำนวนแฟนบอลเยอะกว่าในอดีตมาก โดยเฉพาะสนามต่างจังหวัด ทุกวันเสาร์-อาทิตย์จะเป็นวันฟุตบอลของจังหวัดที่แต่ละครอบครัวต่างหอบลูก จูงหลานเข้าไปเชียร์ทีมจังหวัดของตัวเอง

        สนามกีฬากลาง ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้การดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทยหรือ กกท. ช่วงหลังถูกเปลี่ยนมือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือ อบจ. เข้ามาดูแลแทน ซึ่งร้อยละ 80 จะเป็นรูปแบบเดียวกันคือมีอัฒจันทร์ฝั่งมีหลังคาและฝั่งตรงข้ามที่เป็นปูน ตั้งเด่ๆ ล้อมรอบด้วยรั้วสูงเท่าเอว

        ตรงนั้นไม่น่าจะมีปัญหาครับ แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อแฟนบอลแต่ละจังหวัดเข้าชมมากขึ้นเรื่อยๆ จากความจุเดิมที่จุได้สัก 2 พันคนพอคนดูมากขึ้นก็ต้องเสริมอัฒจันทร์ซึ่งส่วนมากไม่ได้มีงบประมาณเพียงพอ ที่จะสร้างอัฒจันทร์คอนกรีตแบบ 2 ฝั่งเดิมจึงต้องเป็นอัฒจันทร์โครงสร้างเหล็กขึ้นมาเป็นการชั่วคราวบริเวณ หลังประตูทั้งสองด้าน...นั่นเป็นทีมในระดับลีกภูมิภาคหรือดิวิชั่น 2 นะครับ

        ทีมในลีกดิวิชั่น 1 และไทยพรีเมียร์ลีก ที่ไม่ได้ใช้สนามกีฬากลางเดิมเป็นสังเวียนแข้งของตัวเอง อาจจะสามารถสร้างที่นั่งชมได้แข็งแกร่งหน่อยเพราะวางแผนมาดี เตรียมความพร้อมที่จะให้เป็นฟุตบอลสเตเดี้ยมจริงๆ

        แต่ความนิยมในการสร้างอัฒจันทร์ยุคปัจจุบันไม่ค่อยมีใครสร้าง แบบโครงสร้างคอนกรีตหรือปูนเท่าไหร่นักเพราะใช้งบประมาณสูง ใช้เวลาก่อสร้างนานต้องก่ออิฐ ฉาบปูนทีละคืบ ทีละศอก ขณะเดียวกันโครงสร้างเหล็กหลายคนเชื่อมั่นว่าแข็งแรงกว่า ทำได้รวดเร็วกว่า วางเหล็กลงไป เชื่อม อ๊อคให้เข้ากันจากนั้นใช้แผ่นพื้นสำเร็จปูลงไป ใช้เวลาไม่กี่วันก็สามารถเนรมิตสนามได้ดั่งใจ ยิ่งหลายๆสนามที่มาต่อเติมเพิ่มจำนวนที่นั่งเอาตาม จำนวนคนดูที่เยอะขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งต้องสร้างด้วยความรวดเร็ว ลดขั้นตอนต่างๆ ลงไปพอสมควร

        ธรรมชาติของคนดูฟุตบอลมีความเสี่ยงต่อการที่จะเกิดอัฒจันทร์ ถล่มเหลือเกินครับ เพราะคนเป็นพันเป็นหมื่นไม่ได้นั่งชมกันเฉยๆ หรือแค่นั่งปรบมือ แต่ถึงจังหวะดีใจทีแฟนบอลพร้อมใจกันกระทืบเท้ากระโดดโลดเต้น แรงกระแทกจากน้ำหนักมหาศาลที่ถูกกดทับลงมาเพิ่มทวีคูณเป็นหลายเท่า อย่างที่สุโขทัยที่อัฒจันทร์พังลงมาก็เป็นจังหวะที่แฟนบอลพร้อมใจกันลุกขึ้น ยืนเฮกันนั่นแหละครับ

        นี่ไม่นับหากเกิดเหตุการณ์ชุลมุนกันเช่นยกพวกตีกัน หรือวิ่งหนีอะไรสักอย่าง หรือวิ่งไปดูพร้อมๆ กันในจุดใกล้ๆ ด้วยจำนวนคนที่น้ำหนักเกินกว่าบริเวณแคบๆ จะรับไว้ นั่นก็มีโอกาสที่อัฒจันทร์บริเวณนั้นจะพังครืนลงมาก็มีสูงทีเดียว

       บริษัทไทยพรีเมียร์ลีก หรือคณะกรรมการจัดการแข่งขันเอไอเอสลีก มีการสำรวจสนามก่อนทำการแข่งขันในแต่ละฤดูกาลก็จริง แต่ผมไม่เชื่อว่าคณะกรรมการเหล่านั้นได้มีการทดสอบการรับน้ำหนักด้วยการ จำลองให้มีจำนวนคน น้ำหนัก ที่กดทับลงบนอัฒจันทร์ที่ใกล้เคียงกับความจริง ส่วนมากจะไปตรวจความพร้อมของห้องหับต่างๆ พื้นสนาม ไฟสนาม อัฒจันทร์ที่นั่งว่าเพียงพอหรือไม่

        จากนี้ไปผมอยากเห็นคณะกรรมการทีพีแอล และเอไอเอสลีก มีวิศวกรรวมอยู่ในทีมสำรวจสนามด้วย เพื่อคำนวณความพร้อม การรับน้ำหนักของอัฒจันทร์สนามทุกแห่ง ต้องถือว่านี่เป็นหมวดที่ต้องอยู่ในข้อบังคับ ทุกสโมสรต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้เท่านั้น หากทำไม่ได้จะต้องไม่อนุญาตให้ทำการแข่งขัน

       ในวันแข่งขันก็เช่นเดียวกัน แมตช์คอมมิชชันเนอร์ ต้องตรวจสอบด้วยว่าแฟนบอลเข้ามาเกินกว่าที่ขนาดของสนามกำหนดไว้หรือไม่ หากเกินเข้ามา แม้จะนั่งกันได้ เบียดกันไปแต่ก็ยอมไม่ได้เพราะต้องคำนึงถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย ดูปอดแหก ตาขาวไปหน่อยนะครับ แต่ผมยืนยันว่าต้องทำหากไม่อยากเห็นโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นในวงการฟุตบอลบ้านเรา


ขอขอบคุณ คุณปูเป้
จาก http://www.siamsport.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น